วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556


การเพาะพันธุ์

           การเพาะขยายพันธุ์ปลาไหล โดยปกติทำได้โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ ส่วนการเพาะพันธุ์โดยวิธีฉีดฮอร์โมนผสมเทียม ได้มีผู้ทำการทดลองฉีดฮอร์โมน Suprefect + Motilium ในระดับต่างๆ กัน ปรากฏว่าปลาไม่มีการวางไข่แต่อย่างใด
           การเตรียมบ่อเพาะพันธุ์ โดยใช้เทคนิคการเตรียมบ่อเพาะให้คล้ายคลึงกับธรรมชาติมากที่สุด สามารถเพาะเลี้ยงได้ทั้งในถังไฟเบอร์ บ่อดิน บ่อซีเมนต์และท่อซีเมนต์กลม โดยจะต้องเตรียมความพร้อม ดังนี้


         - ถัง ไฟเบอร์ ใส่ดินเหนียวลงในถังไฟเบอร์ขนาด 2 ตัน บ่อสูง 1 เมตร โดยให้ดินอยู่ในลักษณะแนวลาดเอียงสูง 40 เซนติเมตร หลังจากนั้น จึงเติมน้ำลงไปประมาณ 30 เซนติเมตร ให้ดินเหนียวโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำเป็นแนวลาดเอียงประมาณ 10 เซนติเมตร แล้วทำการปลูกพันธุ์ไม้น้ำให้เหมือนกับธรรมชาติ เช่น กอบัว จอกแหน และผักตบชวา

         - บ่อดิน ควรอัดพื้นดินให้แน่นและมีขนาด 200-400 ตารางเมตร ด้านบนควรปลูกพืชน้ำสำหรับเป็นที่วางไข่ของแม่ปลาไหลนา ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ในสัดส่วนเพศผู้ : เพศเมีย เท่ากับ 1: 3 ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ปลาไหลนาจะวางไข่ได้ภายใน 2-4 เดือน โดยเริ่มวางไข่ตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน เมื่อลูกปลาไหลฟักออกเป็นตัว ลูกปลาไหลจะมีความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร พฤติกรรมของลูกปลาไหลนามักชอบหลบซ่อนอยู่ตามรากหญ้า สามารถรวบรวมและนำไปเลี้ยงต่อไป
       
          - บ่อซีเมนต์ ขนาด 5.0 x 5.0 x 1.0 เมตร ใส่ดินลงในบ่อสูง 30 เซนติเมตร เติมน้ำให้มีระดับสูงกว่าผิวดินประมาณ 10 เซนติเมตร ใส่พืชน้ำต่างๆ เพื่อให้เป็นที่หลบซ่อนและวางไข่ ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ในสัดส่วน เพศผู้ : เพศเมีย เท่ากับ 1 : 3 ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ปลาไหลนาจะก่อหวอดคล้ายปลากัด (การพ่นฟองอากาศสำหรับวางไข่) เกษตรกรสามารถรวบรวมลูกปลาไหลนาได้ หลังจากปลาไหลก่อหวอดประมาณ 5 วันแล้ว จึงนำลูกปลาไหลไปอนุบาลต่อในตู้กระจกหรือในท่อซีเมนต์กลม

        -ท่อซีเมนต์กลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.0 เมตร ปล่อยพ่อพันธุ์ 1 ตัว และแม่พันธุ์ 3 ตัวต่อ 1 ท่อ ใส่ดินสูงประมาณ 30 เซนติเมตร โดยแม่พันธุ์ 1 ตัว จะสามารถวางไข่ตั้งแต่ 300-910 ฟอง ขึ้นอยู่กับขนาดของแม่พันธุ์


     
                 1. การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ การคัดแยกเพศของพ่อแม่พันธุ์ปลาไหล จะกระทำได้ยากมาก เพราะปลาไหลนามีลักษณะเพศคล้ายๆ กัน ถ้าดูจากลักษณะภายนอก จะไม่สามารถแยกเพศให้เด่นชัดได้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูที่ปลาไม่มีการวางไข่ แต่ถ้าในช่วงฤดูวางไข่ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม จะสามารถสังเกตเพศของปลาไหลได้เด่นชัดขึ้น ดังนี้

         - เพศผู้ ความยาวมากกว่า 60 เซนติเมตร น้ำหนักมากกว่า 400 กรัม ท้องไม่อูม ตัวยาวเรียว ช่องเพศสีขาวซีดไม่บวม ลำตัวสีเหลืองคล้ำ

         - เพศเมีย ความยาว 29-50 เซนติเมตร น้ำหนัก ต่ำกว่า 300 กรัม ท้องอูมเป่ง ตัวอ้วน ท้องป่อง ช่องเพศสีแดงเรื่อๆ บวม (ช่วงผสมพันธุ์) ลำตัวมีสีเหลืองเปล่งปลั่ง

          เมื่อคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลาไหลได้แล้ว ให้นำมาปล่อยในบ่อเพาะพันธุ์ที่เตรียมไว้ โดยการปล่อยพ่อแม่พันธุ์จะพิจารณาจากขนาดของบ่อเป็นหลัก เช่น ถ้าเป็นบ่อดินหรือบ่อซีเมนต์ ควรปล่อยพ่อแม่พันธุ์ในสัดส่วนเพศผู้ : เพศเมีย เท่ากับ 1 : 3 ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร แต่ถ้าเป็นท่อซีเมนต์กลม ควรปล่อยพ่อพันธุ์ 1 ตัว และแม่พันธุ์ 3 ตัวต่อ 1 ท่อ


 
          2. การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ เมื่อปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาไหลลงบ่อเพาะแล้ว ควรเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาไหล โดยให้อาหารและดูแลทำความสะอาด เปลี่ยนถ่ายน้ำ อาหารที่นำมาให้พ่อแม่พันธุ์ปลาไหลควรเป็นพวกอาหารปลาสดหรือเป็ดสับเป็นชิ้น พอเหมาะกับปากของปลา ในปริมาณร้อยละ 3 ต่อน้ำหนักตัว โดยให้วันละ 1 ครั้งในช่วงเย็น เนื่องจากปลาไหลนามีอุปนิสัยชอบออกหากินในที่มืด และสภาพแวดล้อมเงียบสงบ การถ่ายน้ำในบ่อเพาะพันธุ์ควรทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ปลาจะต้องใช้เวลาปรับตัว 2-4 เดือน จะพบว่า น้ำฝนเป็นสิ่งกระตุ้นให้แม่พันธุ์ปลาไหลวางไข่ได้เป็นอย่างดี และปลาไหลนามักวางไข่ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงใกล้หน้าฝน แต่ช่วงที่ปลาไหลไข่ชุกที่สุด คือ เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และจะพบไข่ปลาไหลทุกครั้งหลังจากฝนตก เมื่อพ่อแม่ปลาไหลพร้อมที่จะวางไข่แล้ว ปลาเพศผู้จะสร้างหวอดและแม่ปลาวางไข่สีขาวมีช่องว่างอยู่ตรงกลาง  โดยไข่ปลาจะติดอยู่ใต้หวอดและกองอยู่ตามพื้น ไข่ปลาไหลที่ออกใหม่ๆ มีขนาดใหญ่ประมาณ 3 มิลลิเมตร สีเหลืองทอง เปลือกไข่มีลักษณะแข็งและกลม แม่พันธุ์ปลาไหล 1 ตัว สามารถให้ไข่ได้ไม่เกิน 2,000 ฟอง ลูกปลาที่ฟักออกมาใหม่จะมีความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ไข่ปลาไหลบางฟองอาจฟักออกเป็นตัวห่างกันนานถึง 6 ชั่วโมง เนื่องจากแม่ปลาไหลอาจวางไข่ไม่พร้อมกันและในช่วงวางไข่ แม่ปลาไหลจะมีนิสัยดุร้ายมาก หลังจากก่อหวอด 7-10 วัน ก็รวบรวมลูกพันธุ์ขึ้นมาอนุบาลต่อไป




   2. ความดกของไข่ ปริมาณความดกของไข่ปลาไหลนาขึ้นอยู่กับขนาดน้ำหนักและความยาว คือ


ความยาว
ปริมาณไข่
20-30 เซนติเมตร
300-400 ฟอง
40-50 เซนติเมตร
400-500 ฟอง
มากกว่า 50 เซนติเมตร
1,000 ฟอง




              3. การพัฒนาของไข่ ปลาไหลนาจะมีไข่เพียง 1 ฝัก ไข่ปลาไหลนาเป็นลักษณะไข่จมไม่ติดวัสดุ เมื่อสัมผัส จะมีความยืดหยุ่นมาก มีลักษณะสีเหลืองสดใส ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.3 เซนติเมตร ไข่ได้รับการผสมมีลักษณะกลม สีเหลืองทอง ส่วนไข่ที่ไม่ได้รับการผสมจะมีสีขาวใส ไข่จะใช้เวลาในการฟักประมาณ 3 วัน ลูกปลาเมื่อฟักออกใหม่ๆ มีความยาว 2.5 เซนติเมตร มีถุงไข่แดง 2 ใน 3 ส่วน และมีครีบหู อายุ 5-6 วัน ถุงไข่แดงยุบพร้อมครีบหูหายไป และเริ่มกินอาหารได้ อัตราการฟัก 70-80 เปอร์เซ็นต์